Tuesday, August 25, 2015

อ. นิธิ กับบทวิเคราะห์ทางสู่ก้นเหวของไทย

อ. นิธิ 

(ที่มา:มติชนรายวัน 24 ส.ค.2558)


คำให้สัมภาษณ์หลังเกิดระเบิดครั้งรุนแรงที่ราชประสงค์เพียงไม่กี่ชั่วโมงของ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่ได้สะท้อนแต่ความไร้เดียงสาของผู้ให้สัมภาษณ์เท่านั้น แต่สะท้อนขีดจำกัดของรัฐบาลทหารแบบไทยๆ ไปพร้อมกัน และข้อหลังนี้ต่างหากที่เป็นเรื่องน่าวิตกแก่คนไทยทั่วไป
ทหารรู้จักโลกแต่เพียงฝ่ายเราและฝ่ายเขา ฝ่ายเขาคือศัตรูที่ต้องบดขยี้ทำลายให้สิ้นกำลังที่จะต่อสู้ ด้วยวิธีใดก็ได้ เพราะในสงคราม ไม่มีกติกาใดที่ควรเคารพยิ่งไปกว่าชัยชนะ การให้ข่าวผิด (misinform) และให้ข่าวบิดเบือนเพื่อรื้อทำลายข่าวสารข้อมูลของอีกฝ่ายหนึ่ง (disinform) จึงเป็นยุทธวิธีพื้นฐานของการทำสงครามเพื่อบดขยี้ศัตรู

ด้วยโลกทรรศน์ที่แคบเท่านี้ ทหารทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าทำสงครามเท่านั้น หากทหารกำเริบคิดจะบริหารบ้านเมือง ทหารไม่อาจปรับโลกทรรศน์ของตนให้กว้างขึ้นได้ เพราะการเมืองต้องการโลกทรรศน์ที่กว้างขวางกว่าโลกทรรศน์ทางทหารอย่างเหลือคณานับ (แม้ต้องกล่าวมุสาอยู่บ่อยๆ เหมือนกัน) รัฐบาลทหารจึงเผชิญวิกฤตไม่เป็น ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตเล็กหรือวิกฤตใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคมและวัฒนธรรมก็ตาม

เป้าหมายทางการเมืองของการบริหารบ้านเมืองไม่ใช่การบดขยี้ศัตรูเหมือนทหาร แต่คือการเพิ่ม "ฝ่ายเรา" ให้มากขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน รักษา "ฝ่ายเรา" ให้คงอยู่กับเราตลอดไป เพราะที่มองเห็นเป็นปรปักษ์ในขณะนี้ ก็อาจกลายเป็นมิตรในภายหน้าได้ จะเป็นฝ่ายเขาหรือฝ่ายเรา ขึ้นอยู่กับการกระทำของตนเอง ในขณะที่ในสงคราม ใครจะอยู่ฝ่ายเราหรือฝ่ายเขา ทหารไม่ใช่ผู้กำหนด แต่คนอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นผู้กำหนด รัฐบาลทหารจึงมองศัตรูซึ่งอาจกลายเป็นมิตรในอนาคตไม่เป็น ดังที่กล่าวแล้วว่าโลกของทหารมีแต่ฝ่ายเราและฝ่ายเขาซึ่งต้องบดขยี้เท่านั้น

กรณีการบดขยี้ศัตรูด้วยการปั้นแต่งข้อมูลข่าวสารที่รู้จักกันดีคือ ผังล้มเจ้าในปี 2553 ซึ่งรองโฆษกฯคนปัจจุบันเป็นผู้แถลงต่อสื่อ ประหนึ่งเป็นเรื่องจริงที่ทหารได้ค้นพบ (แต่มาในภายหลังก็ยอมรับในศาลว่าเป็นเพียงสมมุติฐานหนึ่งเท่านั้น) ทหารไม่ต้องคำนึงว่าคนที่ถูกระบุชื่อในผังล้มเจ้าจะดำรงชีวิตอย่างปกติสุขอย่างไรต่อไป เมื่อภารกิจทางทหารได้สำเร็จลุล่วงไปแล้ว ในฐานะหัวหน้าครอบครัวและพลเมือง ชนักที่ติดหลังพวกเขาเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคต่อความรับผิดชอบของเขาต่อครอบครัวและประเทศชาติไปอีกนาน เท่ากับขจัด "ฝ่ายเรา" ให้สูญสิ้นกำลังไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่ทหารก็รู้จักแต่การบดขยี้ศัตรูเท่านั้น จึงไม่ต้องคำนึงเรื่องเช่นนี้

 ที่น่าอัศจรรย์ก็คือ การสังหารหมู่ทางการเมืองใน 2553 เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลพลเรือน ซึ่งไม่ควรมีโลกทรรศน์ที่แคบเหมือนทหาร แต่กลับใช้ยุทธศาสตร์บดขยี้อย่างเดียวกับทหาร ทั้งๆ ที่น่าจะเป็นฝ่ายกำหนดยุทธศาสตร์ของตนเอง แต่คิดอีกทีก็ไม่น่าประหลาดใจอันใด เอาทหารกับนักเลงไปร่วมกันคิดยุทธศาสตร์ จะมีอะไรแตกต่างไปจากการบดขยี้ "ศัตรู" ได้เล่า โลกทรรศน์ของนักเลงกับทหารนั้นไม่สู้จะต่างกันมากนัก

แต่ตรงกันข้ามกับการบดขยี้ศัตรู เมื่อใดก็ตามที่ตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ทหารมักคิดว่าตนกำลังจะถูกศัตรูบดขยี้เช่นกัน ดังนั้นจึงมักตื่นตูมจนเสียสติอย่างคำให้สัมภาษณ์ของรองโฆษกฯ หรือแม้แต่ของนายกรัฐมนตรีเอง ซึ่งเป็นการตัดสินเด็ดขาดโดยข้อมูลยังไม่พร้อมว่า การก่อการร้ายที่ราชประสงค์เป็นเหตุภายใน (ในความเป็นจริง หลักฐานเท่าที่ตำรวจรวบรวมได้จนถึงวันที่เขียนนี้ ยังชี้ไปได้ทั้งสองทางคือ จากภายนอกก็ได้ ภายในก็ได้)

สิ่งที่รัฐบาลทหารควรทำที่สุดในยามที่เกิดความตื่นตระหนกไปทั่ว ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่ต้องเกี่ยวข้องกับประเทศไทย ในฐานะนักท่องเที่ยวและพ่อค้าซึ่งต้องสั่งผลิตสินค้า ก็คือรีบสยบความตื่นตระหนกนั้นลงให้ได้ เช่น วางแผนการป้องกันเหตุที่รัดกุมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คนในเขตเมืองให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ จนเกิดความมั่นใจในระดับหนึ่งว่า เหตุร้ายแรงเช่นนั้นยากที่จะเกิดขึ้นซ้ำอีก หรือถึงอาจเกิดซ้ำอีก ก็จะไม่เกิดในแหล่งชุมชนหนาแน่นอย่างที่ผ่านมา ความร่วมมือกับต่างประเทศมีความสำคัญ เช่น อินโดนีเซียและมาเลเซียเพิ่งประกาศไปไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้นว่า พบเบาะแสว่าจะมีผู้ก่อการร้ายปฏิบัติการในประเทศของเขา ข้อมูลเบาะแสจากสองประเทศนั้นย่อมมีประโยชน์ต่อการสืบสวนไปถึงขบวนการใหญ่ หากเชื่อว่าการก่อการร้ายครั้งนี้มีต้นตอจากภายนอก

ในขณะเดียวกัน ก็ต้องวิเคราะห์ด้วยข้อมูลมากที่สุดเท่าที่มีอยู่ว่า กลุ่มที่อยู่ภายในใดบ้างที่มีศักยภาพจะทำเช่นนั้นได้ โดยเฉพาะเมื่อตัดกลุ่มที่ไม่น่าจะใช่ออกไปแล้ว เช่น "ลายเซ็น" ของการวางระเบิดไม่ตรงกับผู้ก่อการในภาคใต้ตอนล่าง เพื่อทำให้กำลังที่จะเจาะลงไปในการหาข้อมูลและประจักษ์พยานของฝ่ายรัฐสามารถพุ่งลงไปที่กลุ่มเป้าหมายหลักได้สะดวกขึ้น

ในสถานการณ์เช่นนี้ ศัตรูยังเป็นเรื่องรอง มิตรต่างหากที่เป็นเรื่องหลัก ทำอย่างไรให้มิตรสามารถอยู่กับฝ่ายเราต่อไปได้ โดยไม่ต้องเสี่ยงหรือเสี่ยงน้อยที่สุด แต่ยุทธศาสตร์บดขยี้ทำให้รัฐบาลทหารขาดสติมากกว่าคนทั่วไป ปฏิบัติต่อศัตรูผิดและปฏิบัติต่อมิตรผิดในทางเดียวกัน

 รัฐบาลทหารใช้ยุทธศาสตร์บดขยี้มาตั้งแต่เริ่มยึดอำนาจได้ และคงจะใช้ต่อไปจนถึงวันที่หมดอำนาจ

ในระยะแรกหลังการยึดอำนาจ มีเหตุผลที่จะใช้ยุทธศาสตร์บดขยี้กับปรปักษ์ที่เลือกแนวทางทหารในการต่อสู้ เช่น ยึดคลังอาวุธและกองกำลังของปรปักษ์อย่างฉับพลัน (หากมีการสะสมอาวุธและสร้างกองกำลังขึ้นจริง) แต่ทหารต้องแยกแยะเป็นด้วยว่า ในกลุ่มที่เป็นปรปักษ์นั้นมีอยู่อีกหลายกลุ่มที่สามารถเปลี่ยนกลับมาเป็นพันธมิตรได้ แม้แต่ส่วนหนึ่งของนักการเมืองในสังกัดพรรคเพื่อไทย ก็อาจเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันจนสามารถออกมาตั้งโต๊ะขอบคุณ สนช.ได้ เป็นต้น

ตรงกันข้ามกับดึงศัตรูมาเป็นมิตรคือ จะรักษามิตรให้อยู่ฝ่ายเราตลอดไปได้อย่างไร การไม่ปล่อยให้มิตรได้แสดงความคิดเห็นหรือความต้องการบางอย่างที่อาจขัดกับรัฐบาลทหาร แต่พร้อมจะบดขยี้แม้แต่มิตรด้วยกันเอง เป็นผลให้ต้องหนีไปบวชบ้าง เคลือบท่าทีทางการเมืองของตนให้คลุมเครือในสื่อของตนบ้าง กลับยิ่งเป็นอันตรายทางการเมืองมากกว่า เพราะต่างฝ่ายต่างรู้ว่าเขาไม่ใช่มิตร หรืออย่างน้อยก็ไม่ใช่มิตรที่พร้อมจะร่วมหัวจมท้ายด้วยตลอดไป ยุทธศาสตร์บดขยี้ไม่สามารถใช้กับคนเหล่านี้ได้ แต่ไม่บดขยี้ ทหารก็ไม่รู้จะจัดการกับคนประเภทนี้อย่างไร และที่น่าตระหนกแก่รัฐบาลทหาร หากสามารถคิดอะไรยาวๆ เป็น ก็คือคนประเภทนี้เพิ่มจำนวนขึ้น ทั้งใน สปช.และ สนช. หรือจนถึงที่สุดอาจจะใน ครม.ที่กำลังถูกปรับด้วยก็ได้

การสร้างระยะห่างในความสัมพันธ์กับมหาอำนาจตะวันตกเพื่อตอบโต้แรงกดดันต่อการเมืองไทย ที่จริงก็มาจากยุทธศาสตร์บดขยี้เหมือนกัน เพราะไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดที่จะกระเถิบเข้าใกล้จีน (และเกาหลีเหนือ) ให้มากกว่าเดิม ไม่ว่าไทยจะมีทีท่าต่อตะวันตกหรือจีนอย่างไร การถ่วงดุลอำนาจระหว่างสองฝ่ายก็มีอยู่แล้ว และเป็นประโยชน์ต่อไทยแน่ ประเทศไทยเล็กเกินกว่าจะทำให้ดุลอำนาจเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งได้ (แม้แต่เปิดประเทศให้รถไฟจีนวิ่งเข้าท่าเรือได้ทั้งสองฝั่งสมุทร) หรือร้ายไปกว่านั้น หากมีพลังทำให้ดุลอำนาจของสองฝ่ายเอียงไปที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ประเทศไทยก็จะมีอิสรภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศน้อยลงด้วยซ้ำ

ถ้าเรียนประวัติศาสตร์มาอย่างดีพอในโรงเรียนทหาร ก็ควรทราบว่าการเอียงเข้าหาอังกฤษเกินจุดพอดีในบางสมัยบางช่วง ก่อให้เกิดผลร้ายแก่ไทยมากกว่าผลดี (เช่นเดียวกับพระเจ้าธีบอแห่งพม่าที่เอียงเข้าหาฝรั่งเศสเกินจุดพอดี กลับเร่งเร้าให้อังกฤษผนวกส่วนที่เหลือของพม่าเข้ามาในจักรวรรดิโดยทันที) เพราะถึงที่สุดแล้ว ไม่มีมหาอำนาจใดพร้อมจะเข้าสงครามกับมหาอำนาจคู่แข่งเพื่อประเทศไทยหรอก ประเทศเล็กๆ ที่ไม่เป็นส่วนหนึ่งของผลประโยชน์ระดับความเป็นความตาย (vital interest) ของมหาอำนาจใดเลย ไทยไม่ใช่เบลเยียมซึ่งจ่อคอหอยอังกฤษ ไม่ใช่คิวบาซึ่งจ่อคอหอยสหรัฐ และไม่ใช่เกาหลีซึ่งจ่อพุงญี่ปุ่น

 ที่ยกกรณีสงครามซึ่งเป็นกรณีสุดโต่งขึ้นมา ก็เพราะยุทธศาสตร์บดขยี้ของทหารนำไปสู่ความสุดโต่งเหมือนกัน

รัฐธรรมนูญที่ร่างกันขึ้นภายใต้รัฐบาลทหารก็เช่นเดียวกัน ถูกนำไปสู่การบดขยี้ศัตรูทางการเมืองเสียจนโอกาสที่จะถูกนำไปใช้จริงเหลืออยู่น้อยมาก ถึงผ่านไปได้ก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้นาน แม้แต่โดยไม่ต้องคำนึงถึงมวลชนชาวไทย ซึ่งเกิดสำนึกพลเมืองขึ้นอย่างกว้างขวางเลยไปในหมู่คนที่จัดว่าเป็นชนชั้นนำของสังคม ก็มีความหลากหลายซับซ้อนขึ้นอย่างมาก มีผลประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม รวมถึงผลประโยชน์ทางอุดมการณ์ที่แตกต่างและขัดแย้งกันเอง จึงเป็นไปไม่ได้ที่คนเหล่านี้จะยอมอยู่ภายใต้การกำกับของกลุ่มชนชั้นนำเพียงหยิบมือเดียว ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากกองทัพ

อันที่จริงกองทัพจะมีบทบาทนำทางการเมืองต่อไปได้ในระยะยาว ก็คือมีอิสระในตัวเองพอที่จะกำกับดูแลกติกาให้ชนชั้นนำทุกฝ่ายต่อรองผลประโยชน์กันโดยสงบและเป็นธรรม มากกว่าออกมาหนุนแต่เพียงบางกลุ่มบางฝ่าย โดยวิธีนี้ต่างหากที่จะทำให้ชนชั้นนำทุกกลุ่มทุกฝ่ายมองกองทัพเป็นเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ใน "การเมือง" ไทย

แต่โลกทรรศน์ที่แคบและยุทธศาสตร์บดขยี้ ไม่อนุญาตให้ทหาร (ไทย) คิดอะไรอย่างนี้เป็น ยิ่งมองการเมืองเป็นสนามรบ นายทหารต่างก็อยากเป็นแม่ทัพนำไพร่พลเข้าสู่การรบ ไว้ชื่อไว้ลายแก่วงศ์ตระกูล ซึ่งก็คือเป็นนายกรัฐมนตรี ย่อมทำให้มีพันธมิตรในหมู่ชนชั้นนำน้อยลง จนในที่สุดก็จะถูกโดดเดี่ยวเหมือนระบอบถนอม-ประภาสระหว่าง 2514-2516

เราไม่อาจเปลี่ยนการเมืองเป็นสนามรบได้ เพราะถึงได้ชัยชนะ ทุกอย่างก็ถูกล้างผลาญทำลายจนย่อยยับไปหมด แล้วจะสร้างสรรค์บ้านเมืองขึ้นจากอะ

No comments:

Post a Comment