Monday, August 24, 2015

"สุวิทย์ เมษินทรีย์" เตือนภัยจุดเปลี่ยนประเทศ ปฏิรูป "คุณภาพคน" ก่อนไทยไร้ที่ยืน! โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 20 ก.ค. 2558 05:01

หน้าหลัก / เศรษฐกิจ / สกู๊ปเศรษฐกิจ
"สุวิทย์ เมษินทรีย์" เตือนภัยจุดเปลี่ยนประเทศ ปฏิรูป "คุณภาพคน" ก่อนไทยไร้ที่ยืน!
โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 20 ก.ค. 2558 05:01

 อีกครั้งที่ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ นักเศรษฐศาสตร์จาก Kellogg School of Management ของ Northwestern University ศิษย์รักของ ศ.ดร.ฟิลิปส์ คอตเลอร์ นักการตลาดผู้มีชื่อเสียงโด่งดังของโลก ออกมาเตือนผู้คนในสังคมไทยว่า เราจะใช้ชีวิตกันในแบบเดิมๆอย่างที่กำลังเป็นอยู่ไม่ได้!
เมื่อมนุษย์ต้องพัฒนาตน ผู้คนบนโลกต้องได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้น และมีศักยภาพสูงขึ้นเพื่ออยู่บนโลกที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงนานัปการให้ได้
ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญจัดทำวิสัยทัศน์ และออกแบบอนาคตประเทศไทย สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ดร.สุวิทย์ได้ออกมาบอกกับพวกเรา และรัฐบาลในฐานะที่แต่งตั้งให้เขาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการออกแบบอนาคตของประเทศว่า คนไทยจะต้องอยู่บนโลกเบี้ยวใบนี้ให้ได้ โดยเฉพาะเมื่อโลกไม่ใช่ใบเดิมอีกต่อไป
สำคัญก็คือ ในขณะที่โลกเปลี่ยนไป ผู้คนทั่วโลกต่างแสวงหาความรู้เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพตน แต่สังคมไทย ประเทศไทย และคนไทย กลับใช้เวลาและทรัพยากรที่มีอยู่ไปในทิศทางตรงกันข้าม ไม่ก่อให้เกิดคุณภาพ ผลิตภาพ และประสิทธิภาพในทางเศรษฐกิจ
ทีมเศรษฐกิจ ขอนำเอาแนวคิด ผลการศึกษา และการออกแบบอนาคตประเทศไทยของ ดร.สุวิทย์มาถ่ายทอดให้ฟังในวาระที่ได้รับเชิญให้เป็นองค์ปาฐกในงานสัมมนาทางวิชาการผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศเมื่อสัปดาห์ก่อน
และ "คน" คือหัวข้อใหญ่ที่ ดร.สุวิทย์เห็นว่า การออกแบบอนาคตประเทศไทย จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการ "สร้างคน" รุ่นใหม่เป็นสำคัญ
3 อาการที่ฟ้องให้เห็นปัญหา
ปัญหาประเทศไทยมีมากจนพวกเราอาจไม่รู้ตัว และเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนหลายคนเห็นเป็นเรื่องปกติ Normal และไม่คาดหวังจะแก้ไข หรือจำเป็นต้องแก้ไข
ผมมองเห็น 3 อาการที่เริ่มฟ้องว่า ประเทศและสังคมไทยกำลังมีปัญหาในช่วง 10 ปีให้หลังมานี้ก็คือ
1.เป็นประเทศที่มีผู้ป่วยติดเชื้อ HIV หรือเชื้อเอดส์มากที่สุดของเอเชียในปี 2552 ในเวลาเดียวกันก็เป็นประเทศที่มีความไม่เท่าเทียมกันในด้านรายได้มากที่สุดของเอเชียในปี 2552
3.เป็นประเทศที่มีคุณแม่วัยใสมากที่สุดของอาเซียนในปี 2554 ขณะเดียวกันเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุดในโลกในปี 2553 ที่ร้ายกว่านั้น ขณะที่หลายประเทศพยายามหลุดพ้นจากระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหาร ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่มีรัฐประหารมากที่สุดของปี และกลับมามีการทำรัฐประหารกันอีกครั้งในปี 2553
ถ้าลองมองไปดูประเทศเพื่อนบ้านที่เคยหายใจรดต้นคอกันมาอย่างมาเลเซีย จะพบว่าเขาข้ามผ่านการเป็นประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศที่ประชากรมีรายได้ต่อหัวสูงสำเร็จแล้ว แต่ไทยกลับอยู่ในตำแหน่งเดิม โดยมีประเทศที่เคยล้าหลังกว่า วิ่งขึ้นแซงหน้าไปเพื่อให้พ้นจากเส้นความยากจนสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้สูงโดยการพัฒนาคุณภาพของประชากรเป็นสำคัญ
คำถามคือ เราลงทุนเพื่อการพัฒนาสมองของประชากรผ่านระบบการศึกษามากเพียงไร หรือว่า หยุดอยู่กับที่ ถึงแม้จะเห็นว่ารัฐบาลยอมเจียดงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นจาก 0.12 เป็น 0.24% แต่ประเทศอื่นๆโดยเฉพาะคู่แข่ง อัดฉีดงบประมาณเพื่อการนี้สูงกว่าเรา
เฉพาะการเรียนรู้เรื่องภาษา ถ้าใครเปิด วิกิพีเดีย (สารานุกรมโลก) ดูจะพบว่า มีบทความทางวิชาการที่ถูกแปลเป็นภาษาเวียดนามมากกว่าภาษาไทยถึง 6 เท่า และคนเวียดนามใช้อินเตอร์เน็ตมากกว่าคนไทย 1.7 เท่า
ขณะที่ระบบการศึกษาของหลายประเทศในอาเซียนและในโลกนำเสนอให้ประชากรในวัยเรียนของเขาต้องมีความรู้ใน 3 ภาษา ซึ่งตรงกันข้ามกับประเทศไทยที่เด็กไทยยังคงอ่านและเขียนภาษาไทยอย่างงูๆปลาๆ ส่วนความฉลาดในเรื่องของภาษาอังกฤษ ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 53 จาก 54 ชาติในเอเชีย ทั้งที่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาจำเป็นที่ต้องใช้เพื่อการคบค้า และขายสินค้าของไทยในตลาดโลก
สิ่งนี้เป็นปัญหาที่ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงความห่วงใย ขณะที่ทีมเศรษฐกิจได้รับการเปิดเผยจากผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการว่า ไทยขาดบุคลากรด้านการสอน โดยเฉพาะในวิชาสำคัญๆ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ อยู่มากถึง 60,000-80,000 คน แต่ด้วยเหตุที่งบมากกว่า 52% เป็นค่าจ้างครู ทำให้กระทรวงศึกษาธิการพยายามชะลอ และลดจำนวนบุคลากรใหม่ๆเข้าสู่ระบบการศึกษาไทย
จึงไม่ต้องแปลกใจที่แต่ละโรงเรียนเต็มไปด้วย "ครูพละ" ที่เงินเดือนต่ำและสอนนักเรียนได้ทุกวิชา!
สิ่งบอกเหตุแห่งความเสื่อมถอย
ปัญหาที่เกิดขึ้น และไม่เคยมีใครคิดจะแก้ไขเหล่านี้ เป็นตัวบ่งชี้ชัดเจนว่า ไทยกำลังเดินไปสู่ความเสื่อมถอย ขณะที่เรามีแม่วัยใสที่ควรจะอยู่ในโรงเรียนเพื่อช่วยกันสร้างชาติแต่กลับต้องไปเลี้ยงลูก ในเวลาเดียวกัน
สังคมไทยก็มีคดีเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้น เมื่อเติบโตมาเป็นผู้ใช้แรงงาน ก็มีแต่แรงงานที่มีหนี้สินรุงรัง และใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยปัญหา
สังคมที่ดี จะต้องเป็นสังคมที่มีความหวัง คือ HOPE มีความสุข HAPPINESS และมีความสมานฉันท์ HARMONY
แต่นั่นไม่ใช่สังคมไทยที่เราอยู่กัน สังคมวันนี้ คนจนยังคงจนดักดาน และคำว่า "โง่ จน เจ็บ" ยังคงเป็นคำพูดที่สะท้อนถึงความเป็นจริงที่เราไม่สามารถออกจากกับดักเหล่านี้ได้ นี่จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมที่ผู้ร่วมสัมมนาในฐานะ Nation Builder จะช่วยกันแก้ไข และการจะแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ได้ก็ต้องวางแผน "สร้างคน" เป็นสำคัญ

เมื่อผมมองดูการบริหารจัดการของประเทศต่างๆในโลก ผมพบว่า หลายประเทศมีความทะเยอทะยานที่จะนำพาประเทศตนไปสู่ประเทศโลกที่ 1 ซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ตลอดจนถึงการค้าบนเวทีโลกอย่างมีเสถียรภาพ จาก
ชาติมหาอำนาจเดิมๆอย่างสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ทุกวันนี้ เราจะเห็นว่า มีสิงคโปร์ เกาหลีใต้ จีน และอินเดีย พาตัวเองไปสู่ความมั่งคั่งในประเทศโลกที่ 1
ส่วนเวียดนาม พม่า และลาว ซึ่งอยู่ในประเทศโลกที่ 3 ก็กำลังนำพาตัวเองทะยานสู่ประเทศกำลังพัฒนา จากประเทศยากจนสู่ประเทศที่ประชาชนมีรายได้ปานกลางเช่นเดียวกับประเทศไทย เพียงแต่เมื่อเทียบกับประเทศไทยในบริบทของการวางแผนเพื่อการพัฒนาชาติแล้ว ต้องบอกว่า ไทยเรากำลังปักหลักยืนอยู่กับที่
ความล้าหลัง และการไม่เคลื่อนตัวไปข้างหน้าพร้อมๆกับประเทศต่างๆซึ่งเคลื่อนตัวไปตามภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลกจะทำให้เศรษฐกิจประเทศเปราะบาง ผู้คนอ่อนไหว สังคมแตกแยกและไร้ซึ่งเสถียรภาพในทุกๆด้าน ถ้าไม่ทำอะไรเลย ท้ายที่สุด ประเทศไทยจะยืนอยู่บนเวทีโลกไม่ได้
สิ่งที่ประเทศไทยต้องเจอก็คือ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตซึ่งเป็นหลักในการสร้างความมั่งคั่งนั้น ติดอยู่บนกับดักที่ขึ้นไปข้างบนก็ไม่ได้ เพราะอุตสาหกรรมไทยไม่ได้พัฒนา หรือปรับโครงสร้างการผลิตให้ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ นั่นจึงทำให้เราแข่งขันด้วยเทคโนโลยีไม่ได้ ส่วนจะขยับลงล่างเพื่อสู้กับจีนและเวียดนามในเรื่องของค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าก็ไม่ได้ เพราะค่าจ้างแรงงานเราสูงกว่าแล้ว
ก็เหมือนนัทแครกเกอร์ที่ถูกบีบอยู่ตรงกลางทั้งบนและล่าง ขยับไปไหนไม่ได้ วันนี้เราจึงมีปัญหาเรื่องการส่งออก และถ้าไม่มีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออกล่ะก็ ผมทำนายไว้เลยว่า ตัวเลขการส่งออกเราจะปรับลดลงเรื่อยๆ และท้ายสุดประเทศไทยจะสูญเสียตลาดส่งออกที่เราเคยเป็นเจ้าของไปหมด ถ้าไม่มีการปรับโครงสร้างทางการศึกษา และคุณภาพของคนเป็นสำคัญ
"คุณภาพคน" สร้างปัญหามากมาย
เรื่องของคน ทำให้ปัญหาลามเลียไปถึงโครงสร้างส่วนต่างๆของประเทศซึ่งรวมไปถึงการลงทุน ที่ทำให้เราฝืดเคืองอย่างหนัก ทุกวันนี้การลงทุนใหม่ไม่มี หรือมีก็ไม่มากพอจะสร้างนัยสำคัญทางเศรษฐกิจได้ ขณะที่เพื่อนบ้านมีการลงทุนที่มีสีสันบรรยากาศ ที่สำคัญการลงทุนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ใช่การลงทุนที่มีคุณภาพ
เราต้องการการลงทุนที่มี Knowlegde base มาขับเคลื่อนคน และถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการผลิตใหม่ๆ
ที่แน่ก็คือวันนี้เราไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีพอจะทำให้คนเข้ามาลงทุน นั่นสะท้อนให้เห็นถึงความถดถอยของขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวม
ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด อีก 15 ปี อินโดนีเซียจะกลายเป็นประเทศที่รวยที่สุด 1 ใน 10 ของโลก ถ้ามองในแง่จีดีพี (รายได้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ) และถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า กัมพูชา ลาว จะไม่ใช่ประเทศตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging Market อีกแล้ว คำถามคือ แล้วไทยเราจะอยู่ได้อย่างไร ขีดความสามารถในการแข่งขันเราจะอยู่ในระดับใด และวัดได้หรือไม่
แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดอีกเรื่องก็คือ ขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของประเทศไทยเราไม่เคยมีใครพูดถึง นั่นเป็นเรื่องน่ากลัว
ถ้าเราไม่ได้คิด หรือวางแผนไว้เลย และขีดความสามารถของประเทศในระยะยาวก็วัดกันตัวเดียวเท่านั้น คือ คุณภาพของคน คุณภาพของมนุษย์ในประเทศนั้นๆ
เมื่อพูดถึงคุณภาพของคน เราจะพบว่าประเทศไทยเราเจอปัญหา 2 อย่างพร้อมๆกัน เด้งที่ 1 คือ คนเราแก่ลง สังคมไทยกำลังเดินหน้าไปสู่สังคมสูงอายุ แต่หลายประเทศที่คุณภาพคนของเขาดี มีการศึกษาและการเรียนรู้ที่สูงขึ้น และยังคงเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไปข้างหน้าต่อไปได้ ต่อให้เขามีคนแก่เพิ่มขึ้น เขาก็อยู่ได้
เพราะคนรุ่นใหม่เขามีคุณภาพ มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี บางประเทศแม้จะดูเหมือนประเทศเขามีคนมากมาย เดินกันยั้วเยี้ยเต็มไปหมด แต่คนเหล่านั้นจะเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มีคุณภาพแน่นอน
ส่วนประเทศไทย โชคร้ายก็ตรงที่คนแก่ลง แต่คุณภาพคนรุ่นใหม่ลดลงตามไปด้วย มันจะสะท้อนภาพอนาคตอีกสิบปีข้างหน้าว่า คนแก่เราที่คาดว่าจะมีราว 20 ล้านคน มีเด็กราว 8 ล้านคน มีพลังของคนหนุ่มสาวขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่ 35 ล้านคน จากที่มีอยู่ 43 ล้านคนวันนี้นั้น จะมีความสามารถในการแบกรับภาระคนแก่ได้ลดลง
อัตราการแบกรับภาระคนแก่จะลดลงตามลำดับจาก 8 ต่อ 1 คน เหลือแค่ 4 ต่อ 1 ในวันนี้ และจะเหลืออยู่แค่ 2 ต่อ 1 คนเท่านั้นในอนาคต มันจึงเป็นภาระอันหนักหน่วงของสังคมครับ เพราะฉะนั้น วันนี้เราเป็นอย่างไร วันหน้าเราก็จะได้อย่างนั้น เช่นกัน วันนี้เราสร้างคนไว้อย่างไร เราก็จะได้คนอย่างนั้น
ทิ้งความคิดเก่าสู่ความคิดใหม่
เราอาจรวยขึ้นจากประเทศที่เคยเป็น Low Income มาเป็น Middle Income แต่จะรวยขึ้นกว่านี้อีกไม่ได้เพราะติดกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลางด้วยการเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมาก ในเอเชียไทยเราเป็นประเทศที่เหลื่อมล้ำสูงสุด โดยเฉพาะคนรวยสุด 20% กับคนจนสุด 20% ซึ่ง ห่างกันมากเหลือเกิน
เมื่อความเหลื่อมล้ำสูงมาก สิ่งที่ตามมาด้วยไม่ใช่ความเหลื่อมล้ำทางรายได้เท่านั้น ยังมีความเหลื่อมล้ำของโอกาสสูง และมีอภิสิทธิ์ชนที่สูงมาก 3 ปัจจัยนี้ ทำให้ไทยเป็นสังคมที่เสื่อมถอย เต็มไปด้วยความขัดแย้งสูง และไม่ Clean&Clear ไม่ Free&Fair ไม่ Care&Share ไม่สะอาดโปร่งใส ไม่ตรงไปตรงมา และไม่แคร์-ไม่เสียสละต่อกัน
สังคมเช่นนี้ ปล่อยต่อไปจะกลายเป็นสังคมที่เรียกว่า Fail State คือ สังคมที่ล้มเหลว
สิ่งที่ท้าทายก็คือ เราจะมีส่วนในการช่วยสร้างคนที่มีคุณภาพเพียงพอจะเปลี่ยนประเทศที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ การเอาเปรียบทางโอกาส และการมีแต่อภิสิทธิ์ชนได้อย่างไร ที่สำคัญจะทำอย่างไรให้ไทยหลุดพ้นกับดักต่างๆได้ แน่นอน ประเทศไทยจำเป็นต้องมั่งคั่งขึ้น แต่ความมั่งคั่งต้องไม่กระจุกตัวอยู่เฉพาะคนบางกลุ่ม สังคมต้อง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเอื้ออาทรต่อกัน
ผมอยากเรียนว่า การปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่เรื่องของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หรือรัฐบาลเท่านั้น เพราะ สปช. และรัฐบาลเป็นแค่ตัวตั้งเรื่องให้ ถ้าการปฏิรูปไม่เกิดขึ้นในหมู่ของมวลชนคนไทย หรือได้รับการเคลื่อนตัวไปข้างหน้าด้วยมวลมหาประชาชนแล้ว ผมไม่เชื่อว่ามันจะประสบความสำเร็จ
ทำไมเราต้องปฏิรูปประเทศ และเปลี่ยนแปลงตัวเองน่ะหรือ เหตุผลก็เพราะโลกเรากำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกของความเป็นดิจิตอล ที่มี 2 อารยธรรมทับซ้อนกันอยู่ระหว่างโลกความเป็นจริงกับโลกเสมือนจริงในอินเตอร์เน็ต ฉะนั้น เด็กรุ่นใหม่จะต้องได้รับการเรียนการสอนเพื่อให้อยู่ในโลกที่มีวัฒนธรรมใหม่ของการดำรงอยู่ให้ได้
เมื่อบริบทของโลกเปลี่ยนไป

No comments:

Post a Comment