Sunday, June 19, 2016

ในขณะที่การคณะสงฆ์กำลังเจอมรสุมจากภาครัฐ อิสลามรุกลึก เชิงกฎหมายและอำนาจรัฐ...??

โดย ศักรินทร์ เข็มทอง


​ในขณะที่การคณะสงฆ์กำลังเจอมรสุมจากภาครัฐ อิสลามซึ่งแม้เป็นเพียงชนส่วนน้อยก็ผลักดันกฎหมายเอื้อประโยชน์ต่อศาสนาของเขาได้อย่างยั่งยืนและมากมาย
................
หลายคนบอกว่าช่วงที่รัฐบาล คสช.บริหารประเทศ และมี สนช. หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นช่วงเวลาทองสำหรับผลักดันกฎหมายดีๆ ที่คั่งค้างมานาน หรือไม่สามารถขับเคลื่อนได้ในช่วงที่นักการเมืองบริหารประเทศ 
ด้วยเหตุนี้ประชาคมต่างๆ ไม่เฉพาะหน่วยงานภาครัฐ จึงพากันเสนอร่างกฎหมายที่สำคัญๆ เข้าสู่กระบวนพิจารณาของ สนช.และรัฐบาลเป็นจำนวนมาก

รวมทั้งประชาคมมุสลิมในประเทศไทยที่ไม่ได้มีกฎหมายใหม่ๆ รองรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ มาเนิ่นนานแล้ว

เมื่อวันอังคารที่ 20 ม.ค.58 ในกิจกรรม "สมาชิกสภานิติบัติญัติแห่งชาติพบประชาชน(มุสลิม)" ที่ศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย ย่านคลองตัน ซึ่งมี นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 เป็นประธาน ได้มีการมอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) 5 ฉบับเกี่ยวกับอิสลามให้ สนช.โดยผ่านรองประธานฯพีระศักดิ์

ทั้งนี้ร่างกฎหมาย 5 ฉบับที่มีการนำเสนอเพื่อให้ สนช.บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ คือ 1.ร่างพ.ร.บ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.... ซึ่งเป็นร่างแก้ไขกฎหมายเดิม 2.ร่าง พ.ร.บ.ฮาลาล เป็นร่างกฎหมายใหม่ ประเทศไทยยังไม่เคยมีมาก่อน สาระสำคัญเพื่อจัดระบบและองค์กรที่รับผิดชอบเกี่ยวกับฮาลาลในประเทศไทย

3.ร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงินอิสลาม ซึ่งไม่ใช่แค่ธนาคารอิสลาม 4.ร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการใช้หลักอิสลามในคดีครอบครัวและมรดก ซึ่งจะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489 และ 5.ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการฮัจญ์ พ.ศ.... ซึ่งเป็นร่างแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ.2524

นายทวีศักดิ์ หมัดเนาะ นักวิชาการอิสระ อดีตกรรมการบริหารสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. ... กล่าวว่า การเสนอร่างกฎหมายก็เพื่อให้การบริหารองค์กรทางศาสนาเป็นไปตามหลักการอิสลามที่ถูกต้องเหมาะสม และเป็นการสร้างพื้นที่ให้กับจุฬาราชมนตรี รวมทั้งคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสที่จะนำมาซึ่งข้อครหา และเป็นการปิดพื้นที่การหาผลประโยชน์ส่วนตัวบนการให้ตราฮาลาลกับสินค้าและผลิตภัณฑ์อีกด้วย!!!

O สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลามฉบับใหม่ คืออะไร?

อันดับแรก เสนอให้มีการตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาอีกองค์กรหนึ่งชื่อว่า "มัจลิซซูรอ" หมายความว่าเป็นนักปราชญ์ทางด้านศาสนาอิสลาม ถือเป็นองค์กรใหม่ ทำหน้าที่ทางด้านกำกับดูแลในเรื่องศาสนาและจริยธรรมของสังคมมุสลิม ซึ่งปัจจุบันไม่มี

การตั้งองค์กรนี้ขึ้นมาก็เพื่อทำหน้าที่กำกับ ดูแล วินิจฉัยในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและจริยธรรมทางสังคมเพียงอย่างเดียว โดยมีท่านจุฬาราชมนตรีเป็นประธาน ขณะที่ผู้ทรงคุณวุฒิของท่านจุฬาฯ ที่ผ่านมาไปยุ่งเกี่ยวในเรื่องการบริหารด้านสังคมด้วย แต่คณะใหม่ที่่เสนอจะมีหน้าที่โดยตรง

อันดับสอง แยกบทบาทความรับผิดชอบทางด้านการบริหารกับศาสนาออกจากกันอย่างชัดเจน โดยที่แยกหน้าที่ และแยกคณะผู้รับผิดชอบด้วย อย่างที่เรียนไปข้างต้น โดยการบริหารนั้นเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ตรงนี้ในการแยก แยกบนความถนัด ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่แตกต่างกัน เราบอกว่านักการศาสนาก็ต้องเชี่ยวชาญด้านศาสนา

ฉะนั้นองค์ประกอบของคณะมัจลิซซูรอ ก็ต้องจบด้านการศาสนาสาขาต่างๆ แล้วก็มีประสบการณ์ในการสอนหรือประสบการณ์ด้านงานวิชาการมาไม่น้อยกว่า 20 ปี

ในส่วนคณะกรรมการกลางอิสลามฯ จำนวน 15 คน ใน 15 คนนี้ต้องมี 3 คนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนา เพื่อเอาไว้คอยกำกับหางเสือให้กับคณะกรรมการกลางฯ ในเวลาที่กำหนดนโยบายต่างๆ หรือว่าการปฏิบัติงานอะไรต่างๆ ก็ให้อยู่ในกรอบของศาสนาด้วย ส่วนอีก 2 ท่านกำหนดไว้ว่า จะต้องเป็นผู้ที่จบสายสามัญ เช่น นิติศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ไอที เศรษฐศาสตร์ เป็นต้น และจะต้องมีประสบการณ์การทำงานๆ ไม่น้อยกว่า 20 ปีเช่นกัน

เพราะฉะนั้นความเชี่ยวชาญตามความถนัดเฉพาะด้านก็เกิดขึ้น คนที่ทำหน้าที่บริหารก็จะต้องมีวิชาชีพ มีประสบการณ์ทางด้านบริหาร คนที่ทำงานด้านศาสนาก็ต้องมีประสบการณ์ในด้านศาสนา อันนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่

อันดับสาม ในเรื่องการได้มาซึ่งผู้ดำรงตำแหน่ง แต่เดิมใช้วิธีการลงมติเสียงส่วนใหญ่ โดยเป็นวิธีทางการเมือง ซึ่งในทางศาสนาบอกว่ายังไม่ถูกต้อง ที่ถูกคือต้องใช้วิธีการปรึกษาหารือ ประนีประนอม ภาษาอาหรับทางศานาเรียกว่า วิธี "มูชาวอเราะห์" ให้นำมาทดแทนวิธีการเลือกตั้ง

เพราะฉะนั้น ร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอให้แก้ไขใหม่นี้ ได้นำเอาหลักการศาสนาที่เรียนไปนั้นมาปรึกษาหารือกันกับคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ดำรงตำแหน่ง

ข้อเสียของการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะระดับไหนก็แล้วแต่ คนที่จะได้ตำแหน่งต้องมาจากเสียงส่วนใหญ่ แน่นอนเสียงส่วนน้อยก็เสียสิทธิ์ หรือที่ร้ายไปกว่านั้น มันเกิดความขัดแย้งในสังคม โดยเฉพาะในสังคมกลุ่มชนเล็กๆ พอมันไม่ลงรอยกัน แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย มันอยู่ด้วยกันไม่ได้สังคมก็ไม่มีความสงบสุข

ถ้าเรายกเลิกวิธีการเลือกตั้ง หรือการลงมติด้วยเสียงส่วนใหญ่ แล้วนำวิธีมูชาวอเราะห์ มานั่งพูดคุย ปรึกษาหารือ เห็นด้วยไม่เห็นด้วย สุดท้ายแล้ว เราบอกว่าคนนี้เหมาะสมแล้วที่จะดำรงตำแหน่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ไม่ว่าจะเป็นมัจลิซซูรอ หรือคณะกรรมการกลางฯ คณะกรรมการประจำจังหวัด อำเภอ หรือประจำมัสยิด ถ้าคนปรึกษาหารือร่วมกัน และเป็นที่ตกลงยินยอมพร้อมใจกัน ความขัดแย้งในสังคมก็จะไม่มี

O ฟังดูแล้วเป็นการคิดแก้ไขจากส่วนกลางเป็นหลัก แล้วพื้นที่อื่นๆ ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะ อย่างพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้จะได้รับการยอมรับหรือไม่?

ไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน เพราะประการที่ 1 เรานำเอาหลักการศาสนามาใช้ ดังนั้นไม่มีมุสลิมคนไหนปฏิเสธหลักการศาสนา เพราะถ้าปฏิเสธหลักการศาสนา คุณก็จะมีปัญหา จะถูกตั้งคำถาม เมื่อนำเอาหลักการศาสนามาใช้ในการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่ง นักการศาสนาหรือมุสลิมทุกคนย่อมไม่ปฏิเสธ

ประการที่ 2 ในร่าง พ.ร.บ.นี้กำหนดให้บทบาทอำนาจหน้าที่ขององค์กรศาสนามีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น แต่เดิมไม่เคยเขียนว่าผู้ที่มีหน้าที่ทางศาสนา ผู้มีอำนาจบริหาร โดยเฉพาะคณะกรรมการกลางฯ มีหน้าที่อะไรที่จะทำเพื่อสังคมบ้าง แต่ร่างนี้เขียนว่ามีความคาดหวังจากสังคมอย่างน้อยที่สุด 5 ประการที่คณะกรรมการกลางฯจะต้องทำให้มันเกิดประโยชน์ต่อสังคม ที่ผ่านมาไม่เคยมีเขียนไว้ แต่วันนี้มีเขียน มันก็กลายเป็นข้อบังคับ ถ้ามีในกฏหมายว่าจะต้องปฏิบัติ หากไม่ปฏิบัติตาม เขาก็ผิดกฏหมาย

ภารกิจหลักกับสังคม 5 ประการมีอะไรบ้าง 1.สังคมอยากจะรู้ว่าประชากรมุสลิมทั่วประเทศ ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ มีจำนวนเท่าใด เพื่อจะนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาได้ 2.อยากจะให้คณะกรรมการกลางฯและผู้นำองค์กรศาสนาอิสลามทุกระดับ มาดูแลรับผิดชอบกันอย่างจริงจังเสียที ในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาในเรื่องการศึกษา เพราะฉะนั้นกฏหมายที่เสนอแก้ไขนี้ก็เลยบังคับว่า คณะกรรมการกลางฯ จะต้องจัดตั้งสถาบันผู้นำ เพื่ออย่างน้อยทำหน้าที่ตรงนี้อย่างชัดเจน

3.คาดหวังว่าคณะกรรมการกลางฯจะต้องเข้ามาแก้ไขปรับปรุงในเรื่องของกิจการฮัจย์ และอีกอย่างการจัดเก็บและบริหารกองทุนซะกาตให้มีประสิทธิภาพ

4.ต้องการให้คณะกรรมการกลางฯเข้ามาดูแลเรื่องของฐานข้อมูลทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติ เช่น มัสยิดทั่วประเทศมีกี่แห่ง มีทรัพย์สินเท่าไร ที่ดินบริจาคที่มีผู้มอบให้กับมัสยิด มอบให้กับมูลนิธิทางด้านศาสนามีทั้งหมดเท่าไร

ทั้งนี้ เท่าที่ประเมินจากที่คณะทำงานประเมินคร่าวๆ มีขนาดรวมกันนับแสนล้านบาท ในเชิงเศรษฐศาสตร์เราสามารถนำเอาทรัพย์สินเหล่านี้มาใช้กระบวนการวิธีการบริหารทางการเงิน เพื่อจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศษรฐกิจต่อสังคมได้ สังคมที่ว่าไม่ใช่แค่สังคมมุสลิมเท่านั้น แต่คือสังคมของประเทศไทยทั้งหมด

ทรัพย์สินแสนล้านบาท นำมาออกพันธบัตร แล้วนำเงินที่ได้ไปสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล ถนน สาธารณูปโภคอื่นๆ พัฒนาการขนส่งต่างๆของประเทศ หรือรวมทั้งอาจจะจะนำไปใช้เป็นไฟแนนช์ เมกะโปรเจคของรัฐบาลก็ทำได้ แต่สิ่งเหล่านี้ มันไม่เคยเกิดขึ้น เพราะเมื่อกฏหมายไม่ได้บังคับว่าใครจะต้องทำ โดยเฉพาะองค์กรศาสนา ก็ไม่มีใครคิดที่จะทำ แต่วันนี้ถ้าร่างกฏหมายฉบับนี้กำหนดให้ไปทำ เขาก็ต้องทำ

5.เป็นเรื่องที่คณะกรรมการกลางฯชุดปัจจุบันทำดีอยู่แล้ว ก็คือเรื่องการบริหารกิจการฮาลาล แต่ปัญหาคือที่ทำอยู่ในปัจจุบันนั้น ดูว่าไม่โปร่งใส ยกตัวอย่างเช่น มีการไปเรียกร้องเงินค่าตอบแทนจากการออกตราฮาลาลอย่างไม่สุจริต แล้วนำเงินนั้นมาเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวหรือพวกพ้อง

เพราะฉะนั้นความคาดหวังของสังคมอย่างน้อย 5 ประการที่เรียนไป คณะกรรมการกลางฯ และผู้บริหารต้องทำให้เป็นจริงขึ้นให้ได้ เนื่องจากมีเขียนกำหนดในกฎหมาย ที่ผ่านมาไม่มีการเขียนกำหนด จึงไปเลือกทำในสิ่งที่ได้ประโยชน์เป็นตัวเงิน เช่น เรื่องฮาลาล แล้วก็ทำกันเป็นที่สนุกสนาน แต่เรื่องอื่นด้อย เรื่องอื่นย่อหย่อน และนั้นทำให้เสียโอกาสในการพัฒนาสังคมของเรา

O ตรงนี้จึงเป็นที่มาของข้อเสนอที่ว่า คณะกรรมการกลางฯต้องทำรายงานประจำปีด้วย?

ใช่ครับ ประเด็นที่เกิดขึ้นใหม่ก็คือ เมื่อเราแยกอำนาจหน้าที่ด้านบริหารกับด้านศาสนาออกจากกัน เราต้องการให้นักการศาสนา ผู้นำทางศาสนา เป็นผู้มีคุณธรรมอันสูงส่ง รวมทั้งจุฬาราชมนตรีด้วย และได้รับการยกย่องเชิดชู ได้รับความเคารพด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีข้อเคลือบแคลงหรือมีมลทินว่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องไม่ถูกต้อง

แน่นอนว่ามันก็จะมีกระบวนการในการตรวจสอบ ร่าง พ.ร.บ.นี้สร้างเครื่องมือในการตรวจสอบประเมินผล เช่น กำหนดให้จะต้องมีการตรวจสอบจากผู้ตรวจสอบภายนอก ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบมืออาชีพ มาทำการตรวจสอบฐานะทางการเงิน มาตรวจสอบงบประมาณ งบดุลขององค์กร ซึ่งได้แก่คณะกรรมการกลางฯ และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด

และที่สำคัญต่อมาจะต้องมีจัดการประชุมแถลงผลงานประจำปีอย่างน้อยปีละครั้งภายในเดือน มี.ค.ของปีนั้นๆ เพื่อให้สังคมได้รับรู้ว่า ทรัพยากรทั้งหมดที่สังคมมีอยู่เงินทองมาจากไหน มีรายได้จากอะไร รายได้ตรงนั้น ทรัพยากรตรงนั้น นำไปใช้จ่ายอะไรบ้าง เป็นจำนวนเงินเท่าไร ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานเกิดประโยชน์อะไรบ้างกับสังคม หากได้มาอย่างไม่ถูกต้อง หรือได้มาแล้วนำไปบริหารผิดเจตนารมณ์ ผิดวัตถุประสงค์ สังคมไม่ได้ประโยชน์ สังคมก็จะมีกระบวนการในการลงโทษ

เขียนโดย ศักรินทร์ เข็มทอง

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

No comments:

Post a Comment