Monday, August 8, 2016

มองแง่ดี แง่ร้าย ต่อผลประชามติ โดย ใบตองแห้ง

อันนี้ของใบตองแห้ง:

มองโลกแง่ดี

1.ประชามติครั้งนี้ แมลงสาบตายเป็นเบือ (ใครอย่าว่ามันไม่เอาจริงนะครับ เพราะนี่เท่ากับชวน-อภิสิทธิ์ เสียเครดิต) = คนที่เลือก ปชป.ด้วยเหตุผลประชาธิปไตย เอาเข้าจริง ไม่มีเลย มีแต่เลือกเพราะเกลียดทักกี้ ซึ่งตอนนี้เทคะแนนให้ลุงตู่หมดแล้ว

2.ฝ่ายไม่รับ ยังมีเกือบ 10 ล้านเสียงเท่าปี 50 ในสถานการณ์ที่ถูกปิดกั้น ห้ามรณรงค์ บล็อกอดีต ส.ส. หัวคะแนน แกนนำเสื้อแดง นี่คือฐานมวลชนที่แข็งแกร่ง (ซึ่งแสดงว่าไม่เกี่ยวกับระบบหัวคะแนน หรือกลไก ส.ส.เลย)

+ Note ไว้ด้วย นอกจากภาคอีสาน ภาคเหนือตอนบน พี่น้อง 3 จังหวัดใต้ Vote No ชนะขาดยิ่งกว่าฐานเสื้อแดงบางจังหวัด ฉะนั้นมวลชนเสื้อแดงทั้งหลาย เลิกทัศนะชาตินิยม เลิกเกลียด "โจรใต้" ได้แล้วครับ เรามีจุดร่วมกันได้บนพื้นฐานอุดมการณ์ประชาธิปไตย

มองโลกแง่ร้าย

1.อะไรที่เราประเมินผิด ทัศนคติหยวนยอมแบบไทยๆ กลัวไม่สงบ กลัววุ่นวาย กลัวอนาคตที่มองไม่เห็น อยากทำมาหากิน เลือกที่จะรับ เพื่อมีเลือกตั้งใน 1 ปี ดีกว่าไม่รับแล้วไม่รู้ว่าจะเกิดอะไร

ผมเชื่อว่านี่เป็นกระแสหลักของการตัดสินใจรับ ไม่ใช่กระแสสลิ่ม ไม่ใช่ความเบื่อนักการเมือง ซึ่งนั่นอาจจะเป็นกับคนชั้นกลางในเมืองเยอะกว่า (ความเบื่อนักการเมือง=ความกลัววุ่นวายด้วย ไม่ใช่ความเกลียดนักการเมืองอย่างเดียว) รองลงมา ก็เป็นผลของการสร้างกระแสให้ประชาชนเข้าใจผิดว่ารับๆ เหอะ แล้วจะได้เลือกตั้ง ทหารจะไป แล้วเศรษฐกิจจะดี (ในพื้นที่อีสาน+เหนือตอนบน จึงมี % ชนะน้อยกว่าปี 50)

กระแสกลัวความไม่สงบนี้เป็นที่น่าหนักใจ มันเป็นเรื่องเศร้าของสังคมไทยที่ขาดลักษณะต่อสู้ สังคมไทยมักหยวนยอม มองปัญหาเฉพาะหน้า มากกว่าหลักการ (ครั้งนี้ยอมกระทั่งเสียหลักการให้ ส.ว.แต่งตั้งเลือกนายกฯ) คนไทยเป็นปฏิบัตินิยมนะครับ คนจำนวนมากไม่คิดแบบเราว่า รธน.นี้แก้ไม่ได้ เขาเชื่อว่าเดี๋ยวก็ว่ากันไปตามสถานการณ์ ขอให้ทำมาหากินได้แล้วกัน

ผมบอกคุณปลื้มตอนออกรายการ Voice ตะกี้ว่า คุณเชื่อไหม ผมเชื่อ คนที่ไปใช้สิทธิ 20 ล้านเสียง เมื่อวันที่ 2 ก.พ.57 น่าจะมีจำนวนไม่น้อยที่ Vote Yes เพราะเหตุผลเดียวกันคือกลัวไม่สงบ

2.ความเข้มแข็งของกลไกรัฐ ที่พร้อมเพรียง เข้มแข็งกว่าปี 50 อย่างที่ผมบอกไปแล้วว่านี่คือยุคที่รัฐราชการพึงพอใจ ภาคภูมิใจ พวกเขาใช้กลไกจูงใจประชาชนได้ผล โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อว่ารับแล้วจะได้เดินไปข้างหน้า (คือสรุปแล้วไม่ใช่เชื่อเนื้อหาร่าง รธน.หรอก ไม่ใช่เชื่อว่าดูตั้งแต่ท้องแม่จนแก่เฒ่า)

มองภาพรวม

1.มันเป็นเรื่องเศร้าที่วิถีประชาธิปไตยยิ่งคดเคี้ยว และอาจต้องผ่านการสูญเสีย เมื่อมองไปข้างหน้า มันน่าหดหู่ยิ่งกว่าเมื่อคิดว่าอุปสรรคสำคัญของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในสังคมไทย ไม่ใช่ฝ่ายขวา ไม่ใช่พวกเผด็จการสุดโต่ง แต่คือวัฒนธรรม Soft Culture วัฒนธรรมอ่อนละมุนแบบที่ อ.โกร่งเขียนลงมติชนล่าสุด ผมเรียกว่าความหยวนยอมไม่เอาหลักการแบบไทยๆ ซึ่งหยวนยอมให้เกิดการเข่นฆ่ามามากมายในประเทศนี้ ตั้งแต่ 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา 35 พฤษภา 53 ทั้งที่รู้ว่าผิด หรือพอประวัติศาสตร์ผ่านไป สัก 10-20 ปี ก็จะยอมรับว่าผิด แต่ไม่เคยสรุปบทเรียน ไม่เคยแสวงหาความยุติธรรม แต่เลือกเอาอะไรที่หยวนยอมอยู่ไปด้วยกันได้ก็พอ ฉะนั้น คนที่ต่อสู้ก็จะตายฟรี อันนี้ไม่จำกัดเสื้อสีนะ แม้แต่ที่พวก กปปส.ร้องแรกแหกปาก เอาเข้าจริง ก็ตายฟรีหมดละ มันแทบไม่สร้างคุณค่าอะไรเลย คนไทยส่วนใหญ่ยังยินดีจะยอมรับความอยุติธรรม การได้อำนาจการใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรม เพียงเพื่อตัวเองได้ทำมาหากิน

อันนี้ก็เป็นบทเรียน ว่าในการต่อสู้ไปข้างหน้า ซึ่งเสี่ยงจะเกิดการสูญเสีย เราต้องหลีกเลี่ยงการสูญเสีย นักต่อสู้ในวันนี้ น้องๆ หลานๆ ต้องผ่อนตามสถานการณ์ รอให้คนเห็นปัญหา รอให้คนเดือดร้อน ค่อยว่ากันทีละประเด็นๆ

2.อย่างไรก็ดี สำหรับผม หรือคนรุ่นผม ไม่ใช่เรื่องที่ต้องอกหักผิดหวังครั้งใหญ่อะไรหรอกนะครับ เคยแพ้มาเยอะกว่านี้แล้ว มองกลับไป ในสถานการณ์เช่นนี้เรามีมวลชนเหนียวแน่นตั้งเกือบ 10 ล้าน ต่อสู้กันมาตั้ง 40 ปี ไม่เคยมีขนาดนี้มาก่อน ในเชิงคุณภาพ ผมว่าคน 10 ล้านนี้เหนียวแน่นยิ่งกว่าปี 50 ในขณะที่คน 16 ล้าน มีไม่น้อยที่โอนเอนไปมา (ยังไม่นับคนไม่ได้กลับภูมิลำเนาไป Vote ซึ่งผมคาดไว้ก่อนนี้แล้วว่ามีเป็นล้าน)

เรายังต่อสู้ต่อไปได้ โดยผ่อนตามสถานการณ์ แล้วให้สังคมเห็นว่าเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญจะสร้างปัญหาอะไรบ้าง อันดับแรก คนหวังเลือกตั้งใน 1 ปี แต่มีชัยก็แพลมแล้วว่าอาจไปถึงต้นปี 61 อันดับต่อมา การแก้รัฐธรรมนูญให้สอดคล้องคำถามพ่วง การร่างกฎหมายลูก ที่สังคมจะเห็นว่ามันหมกเม็ดนี่หว่า ระเบิดเวลามันรออยู่เองด้วยเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ อย่าห่วงว่าประชาธิปไตยจะแพ้แล้วไม่มีทางกลับมาได้ รธน.50 ยังวางระเบิดเวลาไว้น้อยกว่านี้ รธน.ฉบับนี้มันสร้างความขัดแย้งไม่เฉพาะกับฝ่ายประชาธิปไตยแต่ขัดแย้งหลายฝ่าย เพียงแต่มันอยู่ในสภาพสังคมเคว้งคว้าง ผู้คนกลัวอนาคตที่มองไม่เห็น กลัวความเปลี่ยนแปลง ซึ่งมันก็จะเปลี่ยนแปลงอยู่ดี

No comments:

Post a Comment